การแปลผลภาพถ่ายรังสีทรวงอก กรณีตรวจสุขภาพประจำปี
การตรวจเอกซเรย์ทรวงอกสำหรับตรวจสุขภาพประจำปี จะถ่ายภาพในท่า PosteroAnterior เสมอ ดังภาพด้านล่าง
|
ท่าเอกซเรย์ทรวงอก PosteroAnterior (PA) Upright ลำแสงเอกซเรย์จะผ่านจากด้านหลังมาตกกระทบแผงรับภาพด้านหน้า |
ภายที่ได้จะเป็นภาพสีขาว-ดำ เข้มแตกต่างกันดังภาพด้านล่างนี้
|
ภาพถ่ายรังสีทรวงอก ท่าหลัง-หน้า ท่ายืน (Postero-anterior upright view) เป็นภาพขาว-ดำ หน้าอกซีกขวาของภาพ (right) จะตรงกับด้านซ้ายของเรา ส่วนหน้าอกซีกซ้ายของภาพก็จะตรงกับด้านขวาของเรา เปรียบเสมือนภาพกำลังคุยกับภาพ |
การตรวจสอบอย่างเป็นระบบ จะช่วยลดความผิดพลาดในการแปลผลภาพได้ ควรพิจารณาครอบคลุมสิ่งดังกล่าวต่อไปนี้
ข้อมูลผู้ป่วยทั่วไป ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด เลขประจำตัวผู้รับการตรวจ
ท่าตรวจเอกซเรย์ทรวงอกของผู้ป่วย เช่น PA (posteroanterior) upright, AP( anteroposterior)
คุณภาพการหายใจเข้าลืกเพียงพอหรือไม่ ภาพเอกซเรย์ที่บุคคลหายใจเข้าลึกเพียงพอ เราควรเห็นส่วนหน้าของซี่โครงที่ห้าหกเจ็ด (anterior portion of 5th,6th, 7th ribs) พาดตัดผ่านเงาของกระบังลม (Diaphram แต่ละข้าง
|
ภาพเอกซเรย์ทรวงอกที่หายใจเข้าอย่างเพียงพอเราจะสังเกตเห็นกระดูกซี่โครงอันที่เจ็ดตัดผ่าน |
|
ภาพเอกซเรย์ทรวงอกที่ได้ตำแหน่งถูกต้อง ไ่ม่มีการหมุนระยะห่างระหว่างหัวของ clavicle กับ spinous process (เส้นสีเขียว) ห่างเท่ากันทั้งซ้ายและขวา |
ตรวจดูคุณภาพการผ่านทะลุของเอกซเรย์ (Penetration) ภาพที่เหมาะสมคือยังสามารถเห็นเงากระดูกสันหลังส่วนอก (Thoracic vertebrae) ที่ซ้อนกับเงาหัวใจอย่างชัดเจน
|
ภาพเอกซเรย์ทรวงอกแสดงการทะลุทะลวงที่ดีพอ จึงเห็นเงาของกระดูกสันหลังส่วนอกหลังเงาหัวใจได้ชัด |
ABCDEFGH Check lists
คือระบบช่วยเตือนความจำให้เราตรวจสอบภาพถ่ายรังสีทรวงอกให้ครบถ้วน โดยใช้อักษรภาษาอังกฤษอักขระตัวแรกของคำมาช่วยความจำดังนี้
A = Airway
B = Bone
C = Cardiac (and great vessels)
D = Diaphragm
E = Effusion
F = Field (lung fields)
G = Gastric air bubble
H = Hilum
AIRWAY ประกอบด้วยหลอดลมใหญ่ (trachea) และหลอดลมปอดหลัก (main bronchi) สังเกตว่าเป็นเงาสีดำ (อากาศจะให้ภาพสีดำในเอกซเรย์) คล้ายรูป Y กลับหัวดังภาพด้านล่าง
|
ภาพเอกซเรย์ทรวงอก แสดงตำแหน่งหลอดลมใหญ่ (trachea) หลอดลมปอดหลัก (Main bronchus) อยู่ตรงกลางซ้อนกับเงากระดูกสันหลัง เห็นเป็นเงาสีดำ (สีดำในเอกซเรย์หมายถึงอากาศ) |
BONE คือส่วนกระดูก สำหรับบริเวณอกรูปเอกซเรย์กระดูกจะซ้อนทับกับอวัยวะอื่นๆ ด้วย แต่ขอให้พิจารณาเงาสีขาวที่แสดงโครงร่างกระดูกเทียบกับในภาพเอกซเรย์ดังรูปนี้
|
ภาพกายวิภาคศาสตร์กระดูกชองลำตัวส่วนอก |
|
ภาพรังสีทรวงอกปกติพร้อมชี้ตำแหน่งอวัยวะต่างๆ |
เงาของกระดูกจะทีบสีขาวในภาพเอกซเรย์ แต่ระดับจะแตกต่างกันไปตามแต่ส่วนใดจะทีบมากหรือน้อย สังเกตขอบกระดูกแต่ละชิ้นมันจะมีความโค้งต่อเนื่อง หากพบความสะดุดตามขอบให้ระวังผิดปกติ หรือพบรอยดำกว่าปกติเป็นจุดหรือวงเล็ก ก็อาจเป็นควาผิดปกติ ต้องปรึกษาผู้ชำนาญอีกต่อหนึ่ง
CARDIAC (and great vessel)
ให้ดูรูปด้านล่างแสดงตัวอย่างของเงา หัวใจและหลอดเลือดใหญ่ในหน้าอก
ซึ่งเมือเอกซเรย์ออกมาจะให้ภาพดังที่แลเงาสีขอบดังข้างล่างนี้
|
ภาพถ่ายรังสีทรวงอกแสดงเงาขอบหยักของอวัยวะแกนกลางส่วนอกซี่งประกอบด้วยขอบเขตของหัวใจและหลอดเลือดใหญ่ |
เงาของอวัยแกนกลางหน้าอกจะมีโค้งเว้าในลักษณะข้างต้นนี้ (ด้านซ้าย 3 หยัก ด้านขวา 2 หยัก) หากมีรอยโป่งนูนที่เกินจากนี้ให้สงสัยไว้ว่าอาจมีสิ่งผิดปกติ
ต่อไปให้พิจารณาขนาดเงาหัวใจ ในการบอกว่าเงาหัวใจโตหรือไม่มีวีธีการวัดหยาบๆด้วยค่า cardiothoracic ratio
Cardiothoracic ratio (CTR) = อัตราส่วน ความกว้างที่สุดของเงาหัวใจ หารด้วยส่วนที่กว้างที่สุดของช่องอก (วัดจากด้านในคือของนอกสุดของเงาดำของชายปอด)
ดังภาพข้างล่าง
|
ภาพถ่ายรังสีทรวงอกแสดงการประเมินขนาดหัวใจด้วย cardiothoracic ratio โดยเป็นอัตราส่วนของความกว้างที่สุดของเงาหัวใจ (เส้นสีส้ม) หารด้วยความกว้างที่สุดของช่องอก (เส้นสีฟ้า) |
กรณี CTR มากกว่า 0.5 ให้ระบุว่า หัวใจโต (cardiomegaly)
(แต่ตามข้อตกลงของกลุ่มแพทย์เราจะยึดว่า CTR ระหว่าง 0.5-0.55 ให้ borderline cardiomegaly และ CTR >0.55 ให้ cardiomegaly แน่นอน
DIAPHRAGM
Diaphragm หรือกระบังลม ในภาวะปกติจะมีของเรียบโค้งนูน เข้าหาฐานของปอดทั้งสองข้าง โดยข้างขวาอาจอยู่สูงกว่าข้างซ้ายเล็กน้อยดังภาพด้านล่าง
|
ภาพถ่ายรังสีทรวงอก แสดงขอบของกระบังลม ในสภาพจริงกระบังลมจะชิดกับอวัยวะในช่องท้องทำให้เราเห็นเพียงแค่ขอบด้านบนของกระบังลมเป็นเงาโค้งนูนเหมือนรูปโดมหรือถ้วยคว่ำ โดยซีกขวาจะอยู่สูงกว่าด้านซ้ายเล็กน้อย |
คนบางคนเกิดมามีอวัยวะในทรวงอกและช่องตรงข้ามกับคนอื่นๆ เช่น มีหัวใจหันไปทางขวา มีตับอยู่่ด้านซ้าย ม้ามมาอยู่ด้านขวา อย่างนี้เรียก Situs Inversus Totalis
หากถ่ายภาพเอกซเรย์จะเห็นเป็นเช่นนี้
|
ภาพถ่ายรังสีทรวงอก แสดงอวัยวะกลับซ้าย-ขวา (Situs Inversus) |
อุบัติการณ์การเกิดลักษณะเช่นนี้ ในประชากรทั่วไปพบประมาณ 1:10,000
EFFUSION
การดูว่ามี pleural effusion (น้ำในช่องอก) ให้สังเกต costrophrenic angle หากปกติจะมีลักษณะคล้ายพระจันทร์เสี้ยว(Meniscus) ดังภาพด้านล่าง
ถ้าหากมี pleural effusion จะปรากฎเงาทีบสีขาวนวลมาแทรกตรงมุมแหลมของร่องกระบังลม เหมือนเปลี่ยนจากขอบโค้งนูนเป็นโค้งเว้าดังรูปด้านล่าง
|
ภาพเอกซเรย์ทรวงอกแสดง pleural effusion เป็นเงาทีบสีขาวแทรกอยู่ในฐานของช่องอกทั้งสองข้าง บดบังเงาโค้งนูนของกระบังลม และเกิดเงาโค้งใหม่เป็นรูปโค้งเว้าแทน จะสังเกตเห็นว่าร่องมุมแหลมสีดำของชายปอดก็ถูกบดบังด้วยสีขาวทีบของน้ำในช่องอกนี้ |
ภาพของน้ำในช่องอกในแบบแผนภาพจะมีลักษณะดังนี้หากมีปริมาณไม่มากนัก มันก็ดันให้ปอดแฟบลงเล็กน้อย
|
ภาพแสดง pleural effusion ข้างซ้าย (สีเหลือง) ดันให้ฐานปอด(สีชมพู) แฟบลง |
เมื่อปริมาณน้ำในช่องอกมากขึ้นก็จะดันให้อวัยวะข้างเคียงมากขึ้นดังรูปด้านล่างนี้
|
ภาพน้ำในช่องอกด้านซ้ายปริมาณมาก (ภายในกรอบสีชมพู) ดันจนปอดแฟบจนเห็นแต่บริเวณตอนบนของช่องอกด้านซ้าย (Lung) จะสังเกตเห็นเงาสีดำของหลอดลม (ลูกศรสีเขียว) ก็ถูกเบียดให้ออกจากแนวกลางไปทางด้านขวาอีกด้วย |
FIELD (LUNG FIELDS)
ส่วนของเนื้อปอดทั้งสองข้าง ดังรูปข้างล่าง
|
ภาพถ่ายรังสีทรวงอก แสดงขอบเขตที่ต้องสังเกตเงาปอด (ภายในกรอบสีส้มทั้งหมด) จะเห็นว่าไม่่ใช่ดูแต่เพียงส่วนที่เป็นสีดำเท่านั้น ในความเป็นจริงเนื้อปอดยังโอบล้อมอวัยวะแกนกลาง (Mediastinum) ทั้งหมดและโอบล้อมขอบบนบางส่วนของกระบังลม (Diaphragm) อีกด้วย แต่ถึงแม้ไม่เห็นเงาดำสนิทในส่วนที่ทับซ้อนกับอวัยวะอื่น มันยังคงสีสม่ำเสมออยู่ |
ตัวภาพเงาผิดปกติของปอด
|
ภาพเอกซเรย์ทรวงอก แสงดรอยฝ้าขาวผิดปกติ (ภายในกรอบสีเหลือง) ส่วนกลีบกลางของปอดข้างขวา ผู้ป่วยรายนี้เป็นปอดอักเสบ |
อีกตัวอย่างหนึ่ง
|
ภาพถ่ายรังสีทรวงอก แสดงรอยฝ้าทีบขาวไม่สม่ำเสมอ (ภายในกรอบสีเหลือง) อยู่ในส่วนบนของปอดข้างขวา ผู้ป่วยรายนี้เป็นวัณโรคปอด |
GASTRIC AIR BUBBLE
คือเงาของส่วนบนของกระเพาะอาหาร ตำแหน่งตามภาพด้านล่าง
|
ภาพวาดแสดงตำแหน่งของกระเพาะอาหารในร่างกายมนุษย์ ทางด้านซ้ายของช่องท้องส่วนบน (ภายในกรอบสีเหลือง) |
ส่วนใหญ่ภายในกระเพาะอาหารจะทั้งอาหาร น้ำและอากาศอยู่ อาหารและน้ำให้เงาทีบสีขาวเช่นเดียวกับเนื้อเยื่อของอวัยวะในช่องท้อง เราจึงไม่เห็นขอบเขตของกระเพาะอาหารส่วนล่างๆ ขณะที่อากาศลอยอยู่ส่วนบนของกระเพาะอาหาร ซึ่งให้เงาสีดำ แตกต่างจากสีของเนื้อเยื่อข้างเคียง จึงทำให้เราเห็นขอบเขตของกระเพาะอาหารส่วนบนได้ เมื่อถ่ายออกมาเป็นภาพเอกซเรย์จะเห็นเงาอากาศตอนบน (สีดำ) แยกชัดกับระดับน้ำสีขาวทึบ(เป็นเส้นตรงแนวราบให้เห็นดังภาพ
|
ภาพถ่ายรังสีทรวงอกปกติแสดง เงาอากาศในกระเพาะอาหารส่วนบน (สีดำ) อยู่ภายใต้ขอบของกระบังลม (สีชมพู) อากาศกับระดับน้ำในกระเพาะอาหารแยกชั้นกันเห็นส่วนแยกชั้นเป็นเงาขอบล่างของอากาศในกระเพาะอาหารเป็นเส้นตรงราบขนานกับพื้น (ลูกศรสีเขียว) |
ตัวอย่างความผิดปกติ เช่น กระเพาะอาหารเลื่อนผ่านรูกว้างของกระบังลมขึ้นไปอยู่ในช่องอก (gastric diaphragmatc hernia) ดังรูป
|
แผนภาพแสดงรูปร่างกระเพาะอาหารทีปกติและผิดปกติ ภาพซ้ายคือกระเพาะอาหารรูปร่างปกติ (ส่วนสีน้ำตาล ภาพกลางคือ ส่วนบนของกะรเพาะอาหารเลื้อนผ่านรูกระบังลมขึ้นไปอยู่ในช่องอกตำแหน่งแนวเดียวกับหลอดอาหาร ภาพขวาคือส่วนบนของกระเพาะอาหารเลื่อนขึ้นไปช่องอกไปอยู่ข้างซ้ายของหลอดอาหาร |
ตัวอย่างภาพถ่ายรังสีทรวงอก ของ Gastric hernia
|
ภาพถ่ายรังสีทรวงอกแสดงส่วนบนของกระเพาะอาหารเลื่อนขึ้นไปบนช่องอก (ลูกศรชี้สีขาว) อยู่เหนือกระบังลม |
HILUM (2-ข้าง เรียก Hila)
คือขั้วปอด กรณีปกติจะเห็นลักษณะดังภาพ คือเห็นขอบเขตชัด คล้ายรากไม้รากใหญ่ที่สุดตรงใจกลางขุ้้วปอดแล้วค่อยเรียวเล็กลงเรื่อยๆมาถึงด้านขอบ ดังภาพ
|
ภาพถ่ายรังสีทรวงอกปกติแสดงส่วนขั้วปอดทั้งสองข้าง (Hila) ซึ้งคล้ายกิ่งก้านรากไม้ใหญ่สุดเริ่มตรงกลางของอกทั้งสองข้างแล้วแตกิ่งก้านเรียวเล็กลงออกทางด้านข้าง จะสังเกตว่ามีขอบเรียบ
|
ลองดูตัวอย่าง กรณีมีก้อนเนื้องอกเกิดขึ้นบริเวณชั้วปอด ดังภาพ
|
ภาพถ่ายรังสีทรวงอกแสดง ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณ Hila ทั้งสองข้าง (ลูกศรสีเขียว) จะเห็นว่ามีเงาทีบขาวเป็นหยักๆ แตกต่างจากภาพปกติข้างต้น นอกจากนี้เรายังเห็นเงาทึบสีขาวเป็นหยักๆ (ลูกศรสีชมพู) บริเวณสองข้างของหลอดลมอีกด้วย |
หากเราตรวจสอบภาพถ่ายรังสีทรวงอกอย่างเป็นระบบโดยเคร่งครัด โอกาสผิดพลาดก็จะน้อยลง ยังผลประโยชน์แก่ผู้รับการตรวจ และลดความเสี้ยงต่อการฟ้องร้องต่อรังสีแพทย์ผู้รายงานผลอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม: